วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2560




 กำเนิดอังกะลุง ท.๔
          

วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2549  เวลาประมาณ 09.00 น. 
นายช้วน  บุญศรี  ผู้ผลิตและครูสอนอังกะลุงราวจากตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ได้นำเครื่องดนตรีประกอบด้วยอังกะลุงราวเหล็กฉลุลายด้วยไม้ลงสีแดงและสีทอง จำนวน 9 เครื่อง พร้อมด้วยกลองแขก จำนวน 1 คู่ และโหม่งใบเดียวพร้อมกระจังฉลุลายอีกจำนวนหนึ่งจากร้านศิลปะดนตรีไทย  มาส่งมอบให้กับโรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) ที่ได้ติดต่อสั่งซื้อด้วยเงินบริจาคของวัดมหาธาตุวรวิหารโดยการอุปถัมภ์จากท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร  เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี  ในการจัดตั้งวงอังกะลุง เป็นเงินทั้งสิ้น ๑๐๒,๔๐๐ บาท





     โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดมหาธาตุวรวิหาร) เป็นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองราชบุรีที่มีเกียรติประวัติในการอบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาเรื่องความเป็นไทยและมีความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนมาช้านาน เนื่องจากเป็นสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนรอบสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้โบราณสถานประจำจังหวัดราชบุรีที่มีความเกี่ยวข้องด้านศิลปวัฒนธรรมไทย รวมถึงโรงเรียนได้มีการจัดตั้งวงดนตรีไทยอังกะลุงประจำโรงเรียนมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2549 โดยได้เริ่มนำเครื่องดนตรีอังกะลุงที่แขวนราวเหล็กหรืออังกะลุงราวที่ใช้ผู้เล่นเพียงคนเดียวสามารถบรรเลงเป็นเพลงได้มาพัฒนาฝึกหัดให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เป็นสมาชิกในกิจกรรมชุมนุมสมัยนั้นเป็นครั้งแรก จนถึงปีพุทธศักราช 2555 โรงเรียนได้มีการปรับปรุงวงอังกะลุงใหม่โดยนำอังกะลุงราวไม้ชนิดแบบมีแป้นกดมาใช้แทนการเขย่าโดยตรงที่เรียกว่าอังกะลุงแป้นกด  เพื่อเพิ่มความสะดวกในการบรรเลงให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และได้ใช้ชื่อกิจกรรมในนาม "วงอังกะลุงไทยเพชรชมพู ท.๔" มาโดยตลอดซึ่งใช้เวลาฝึกหัดทั้งในและนอกเวลาเรียนที่ยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบันรวมเวลากว่าสิบปีที่วงอังกะลุงไทยของโรงเรียนได้รับใช้งานกิจกรรมนักเรียนของโรงเรียนในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในและนอกสถานที่ตั้งแต่กิจกรรมระดับโรงเรียน วัด ชุมชุน เทศบาล ไปจนถึงระดับจังหวัดและกิจกรรมท้องถิ่นระดับประเทศ  จากการที่ได้ออกแสดงกิจกรรมในแต่ละรุ่นอยู่บ่อยครั้งนี้ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนได้เรียนรู้วิธีการรูปแบบ และลักษณะเพลงที่ใช้ในวาระต่าง ๆ เกิดมวลประสบการณ์ที่จะนำมาผนวกเข้าเป็นเนื้อหาที่เหมาะกับการนำไปใช้ตามสภาพจริงของกิจกรรมชุมนุมวงอังกะลุงไทย นอกจากนี้นักเรียนที่เป็นสมาชิกในกิจกรรมชุมนุมวงอังกะลุงส่วนใหญ่จะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากครูผู้สอนซึ่งเป็นครูดนตรีไทยประจำการของโรงเรียนด้วยวิธีการเรียนแบบจารีตดั้งเดิมคือ การอธิบายพร้อมสาธิตโดยอาศัยความจำเป็นหลัก  ผสมผสานกับวิธีการแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนช่วยในการเรียนรู้  นำมาพัฒนาหลักสูตรกิจกรรมการเรียนการสอนที่ชัดเจนและมีคุณภาพดีพอที่จะนำไปใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6  เป็นแบบอย่างขั้นพื้นฐานให้กับสมาชิกกิจกรรมชุมนุมวงอังกะลุงรุ่นถัดไปและผู้สนใจได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและพัฒนากิจกรรมชุมนุมให้เกิดความเข้มแข็ง มีประสิทธิผล เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและสถานศึกษายิ่งยิ่งขึ้นไป รวมทั้งตอบสนองนโยบายด้านการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยของท้องถิ่นและของรัฐ  รวมถึงส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทยและอัตลักษณ์ ท.๔ ได้ร่วมกันเผยแพร่ความรู้ภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่สืบไป








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น